รีวิวหนัง ซีรี่ย์ VIU หนังดี หนังดัง ซีรี่ย์สนุกมากมาย

รีวิว Welcome To Waikiki : ไวกิกิ เกสต์เฮ้าส์อลเวง

1-18
รีวิวจัดเต็ม  Welcome To Waikiki : ไวกีกิ เกสต์เฮาส์อลเวง (2018)  "The Best" ในแนวทาง Comedy ที่"ฮาใสๆ"กว่านี้ไม่มีอีกแล้ว

Welcome To Waikiki : ไวกิกิ เกสต์เฮ้าส์อลเวง

Welcome to Waikiki

NETFLIX , viu : Season 1  20 Episodes (2018)

ถ้าว่ากันว่าถึงงานซีรีส์ชั้นยอดที่มีความยอดเยี่ยมในแนวทางของตนเอง  ผู้เขียนได้นำเสนอมาแล้วหลายเรื่อง  แต่ทุกเรื่องแม้จะมีความสนุกสนานตลกขบขัน  ก็ยังเป็นแนวทางอื่น  ที่มิอาจนับได้ว่าเป็นแนวทางงานซีรีส์ที่ขายความฮา  หรือเป็นแนว Comedy ที่ชัดเจนไปเลย  ซึ่งที่ผ่านมานั้นงานหนังหรือซีรีส์ในแนวตลก  ที่มาขายฉากหน้าความตลกเน้นๆมักจะไม่มีเรื่องไหนที่เป็นได้ในระดับ The Best ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความตลกมันคุมยาก ถ้าคุมไม่อยู่มักจะเลอะเทอะกลางทางจนกระทั่งกลายเป็นเลยเถิดไปดูไม่ดีเท่าไหร่  อีกประการคือการจะหาเรื่องตลกมาเล่าในระยะยาวนั้นนับเป็นงานที่โหดหิน  จึงมีจำนวนไม่น้อยที่เป็นมุขที่ผู้ชมเข้าไม่ถึงและกลายเป็นตลกฝืด

และสิ่งที่ตามมาคือการมองหาความง่ายเพื่อจะให้ผู้ชมตลกนั่นคือความหยาบคาย  เรื่องใต้สะดือที่ก็ต้องยอมรับว่ามันตลกจริงแต่มันก็เป็นความตลกที่ไม่สะอาด  เป็นตลกที่ไม่ให้เกียร์ติผู้ชมและมีไม่น้อยที่ลามปามไปเล่นตลกที่ถึงเนื้อถึงตัว  ตลกเจ็บตัว  ที่มันใช้ได้แต่มันก็กลายเป็นงานขายความตลกที่เห็นได้ทั่วไปไม่ได้กลายเป็นที่จดจำ และเมื่อกลับมาดูซ้ำ  ความตลกที่ไม่สะอาดก็ไม่อาจทำให้ผู้ชมหัวเราะได้อีกต่อไป  ยิ่งเมื่อเวลาผ่านไปผู้ชมบางคนมีวุฒิภาวะเพิ่มขั้น  อะไรก็ตามที่เป็นการล้อเล่นหรือล้อเลียนแบบไม่ให้เกียร์ติผู้อื่นมันอาจะเลยเถิดไปเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ ซึ่งมันก็ย้อนกลบมาที่พื้นฐานของการรังสรรงาน  ที่ทุกอย่างต้องเริ่มมาจากบทที่ดีก่อนที่แน่นหนาและมีวัตถุประสงค์ที่ชัดก่อนเป็นปฐม

ซึ่งเท่าที่ผู้เขียนดูซีรีส์หลากหลายสัญชาติมาก็มาสะดุตากับงานซีรีส์เกาหลีเรื่องหนึ่งที่ได้รับคำแนะนำมาว่า “รับประกันความฮา ไม่เครียด  สาระไม่ต้อง  บ๊องสถานเดียว” แต่แล้วเมื่อผู้เขียนได้ดูเข้าจริง  ปรากฎว่ามันเบาสมองจริงผ่อนคลายอย่างจริงเพียงแต่ที่ว่าสาระไม่ต้องนั้นอาจไม่ใช่ทั้งหมด ยังมองเห็นความหมายระหว่างบรรทัดแฝงอยู่  แต่ด้วยความที่มันตั้งใจมาตลกแบบรั่วจนเรื้อน  เลยทำให้สิ่งที่ว่าสัมผัสได้เบาบางจนต้องผ่านไปสักระยะจึงจะเริ่มแรงขึ้น  แต่บนความตั้งใจให้เรื้อนที่มีข้อดีคือความตลกแบบแทบตกเก้าอี้  แต่มันก็ต้องแลกด้วยการที่เรื่องไม่มีพลังแรงจนต้องอดหลับอดนอนดูเพราะแกนหลักของเรื่องไม่ชัด  แต่ทว่าก็เทไม่ลงอยู่ดี  และนี่คือ The Best ในแนว Comedy Welcome To Waikiki

Welcome to Waikiki

เรื่องย่อ

เกส์เฮาส์ไวกิกิ คือสถานที่รวมตัวกันของสามสหายที่เป็นพวกขี้แพ้สมบูรณ์แบบ  หนึ่งคือคังดงกู ชายหนุ่มผู้ฝันจะเป็นผู้กำกับหนัง แต่เป็นได้แค่คนถ่ายงานวันเกิด  อีกหนึ่งคือบงดูซิก หนุ่มเนิร์ดผู้ฝันอยากเป็นคนเขียนบทภาพยนตร์ แต่ทำได้แค่เป็นพนักงานพาร์ทไทม์ไปเรื่อยๆ  และสุดท้ายอีจุนกิ นักแสดงหนุ่มที่ฝันอยากเป็นดาราดัง แต่ปัจจุบันเป็นได้แค่ตัวประกอบอดทนที่ต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ได้บทเล็กๆ  แถมยังพ่วงด้วยคังซอจินน้องสาวของดงกูที่เรียนจบแล้วและฝันอยากเป็นผู้สื่อข่าวแต่ยังเตะฝุ่นอยู่

คนทั้งหมดพักอาศัยอยู่และช่วยกันบริหารเกสต์เฮ้าส์ที่แทบไม่มีแขกเข้าพักแห่งนี้  และไม่ว่าจะดูยังไงนี่คือแก๊งขี้แพ้ทุกคน  กระทั่งเรื่องความรักดงกูยังถูกมินซูอา ว่าที่นางแบบตลอดกาลเททิ้งไปมีคนใหม่  จนกระทั่งจุดเปลี่ยนที่ยิ่งใหญ่มาถึงไวกิกิเมื่อวันหนึ่งพวกเขากลับมาถึงบ้าน  สามสหายต้องมาเจอกับเด็กทารกหนึ่งคนที่คาดว่าถูกเอามาทิ้งไว้ ทิ้งที่ไหนไม่ทิ้งดันมาทิ้งที่กลุ่มพวกมนุษย์ขี้แพ้มีปมแม่ของเด็กจึงต้องมาเอาลูกคืน  และแม่ใจยักษ์ที่ไม่ยักษ์จริงนั้นดันเป็นหญิงสาวตัวเล็กชื่อฮันยุนอา แล้วเมื่อสอบถามความเข้าใจกันแล้ว  แก๊งไวกิกิที่ลำพังตัวเองยังเอาตัวไม่รอดก็เกิดสงสารเลยรับอุปการะยุนอาให้ทำงานในบ้านพร้อมกับดูแลลูกน้อยนามซลไปในตัว

Welcome to Waikiki

แต่เรื่องก็บอกกลายๆว่าจุดสุดท้ายจะไปยังเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างดงกูผู้อกหักกับยุนอาผู้ช้ำรักจากพ่อของลูก  หรือระหว่างจุนกิตัวประกอบอดทนจอมรั่วเรื้อนที่อาวุโสสุดกับซูอาน้องสาวเพื่อนที่เป็นผู้เป็นอิสตรีหนวดเคราครึ้มเจ้าของฉายาชิวแบ็คก้าผู้อายุน้อยสุด  และยังมีกลิ่นจางๆของความสัมพันธ์ระหว่างดูชิกกับซูอาที่ผู้ชมยังไม่อยากเชื่อว่ามันจะไปต่อยังไงแต่ก็ยังคิดว่ามันน่าจะเป็นตามนั้น  และเมื่อมันเป็นเรื่องของพวกขี้แพ้ล่าฝันมันก็ต้องมีคำถามคำโตระหว่างความฝันกับหัวใจอยู่ที่ปลายทางตามสูตร

แล้วเรื่องก็เล่าด้วยแก่นในเรื่องของมิตรภาพความเป็นเพื่อนที่อยู่ด้วยกันในบ้านเดียวกัน ร่วมทุกข์มากกว่าสุขบนความยาจกด้วยกัน  และเรื่องของความรักที่น่าจะโรแมนติกของคู่รักสามคู่ที่ดูน่าจะฟินจิกหมอน  ถ้าหากว่าไม่ได้เล่าเรื่องด้วยความรั่วเรื้อนใช้ตลกนำหน้าจนกระทั่งทุกอย่างหลบไปข้างหลังก่อน  แต่แม้จะมีความรั่วจนเรื้อนและยิงมุขตลกแทบทุกนาทีแต่สัมผัสของแก่นเรื่องที่วางไว้ก็ไม่จางหายไป  อาจเหลือเพียงกลิ่นจางๆแต่ยังสัมผัสได้แค่มันไม่สมดุล  แต่ทว่าความไม่สมดุลมันกลับมาจากความตั้งใจจนกลายเป็นผลลัพธ์ในระดับที่กลายเป็นที่จดจำ

Welcome to Waikiki

เพราะเป้าหมายหลักของบทคือความตลก คือเอากันตามตรงคือความจริงบทถูกวางแกนกลางไว้ที่เรื่องของมิตรภาพ กับเรื่องของทางแยกระหว่างความฝันที่ยิ่งใหญ่กับเสียงของหัวใจ แก่นของเรื่องนี้บทได้วางไว้ที่จุดหมายปลายทางเรียบร้อย  ที่เหลือคือทำยังไงให้ออกมาเป็นคอมมิดี้น้ำหน้าเรื่องอื่นไว้ข้างหลัง ซึ่งถ้าจะปรับทางมาเป็นโรแมนติกนำคอมมิดี้ก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร  อาจจะทำได้ดีในระดับที่น่าพอใจด้วยซ้ำแต่มันจะกลายเป็นงานพื้นๆที่สามารถเห็นได้ทั่วไป  แต่เมื่อเลือกที่จะใช้คอมมิดี้มานำหน้าบทก็ยังแข็งแรงพอที่จะไม่ทำให้แก่นของเรื่องเสียหาย

ก็ใช่ที่มันถูกความตลกขบขันที่ถ้าเป็นกระสุนก็สาดใส่ยิงกันกระจายกลบจนหมด  โดนบ้างไม่โดนบ้างก็ยิง  แป้กบ้างโดนเฉี่ยวๆบ้างโดนเต็มๆบ้างก็ไม่เป็นไร  แต่พอโดนทีไรขำจนน้ำตาเล็ด  ฮากระจายจนปวดกราม  หัวเราะจนแทบตกเก้าอี้ หรือบางทีเผลอปุ๋งออกมาทางก้นจนคนข้างๆเหลียวมามอง และมันเป็นแบบนั้นไปจนถึงสามในสี่ของเรื่องจึงจัดให้แกนหลักของเรื่องมีความเข้มขึ้น  ด้วยการใส่สถานการณ์วัดใจเข้ามาเรื่อยๆจนกระทั่งไปสู่จุดหมายที่วางไว้อย่างสวยงาม แต่ไม่ว่าจะเพิ่มรสชาติความเข้มของแก่นของเรื่องยังไงสิ่งที่ไม่เคยลดทอนลงคือความรั่วและความตลก

Welcome to Waikiki

ที่เห็นได้ชัดว่าได้จงใจเน้นส่วนนี้ทั้งการวางคาแร็คเตอร์ตัวละคร  และสถานการณ์ที่ดูออกว่าจับเข้ามาใส่เพื่อให้ตลก  มันคือการวางน้ำหนักไว้ที่ความตลกมากกว่าสาระที่ตั้งใจไว้และมันเห็นชัดเจนว่าไม่สมดุล แต่มันดันกลายเป็นความลงตัวเมื่อความตลกติ๊งต๊องที่เล่าผ่านตัวละครพวกขี้แพ้มันได้ใจ  ที่สำคัญมันคือตลกที่ใสสะอาด ไม่ต้องตลกเจ็บตัวฟาดหัวตบหน้ากัน  ไม่ต้องด่าทอล้อกันไปถึงบุพการี  ไม่ต้องโหวกเหวกโวยวายชี้หน้าด่ากันด้วยความหยาบคาย  ไม่ต้องตลกแบบสกปรกน่าขยะแขยงไม่ต้องเล่นมุขไต้สะดือหรือลามกจกเปรต

แต่ความตลกมันอยู่ที่คาแร็คเตอร์ตัวละครที่คิดหรือทำอะไรไม่เหมือนชาวบ้านชาวช่อง  แล้ววางสถานการณ์เว่อร์บ้างสมจริงบ้างมันคือความตลกที่ถูกวางตัวไว้อย่างแข็งแรงผ่านงานด้านบทมากกว่าจะไหลตามน้ำหรือนอกเรื่อง หรือด้านความรักก็มีพัฒนาการได้ใจผู้ชมกับสถานการณ์พิสูจน์หัวใจในเรื่องความรักที่ใส่เข้ามา  ที่แม้จะดูฮาแต่ก็เป็นเครื่องสนับสนุนแกนหลักของเรื่องให้มั่นคง  อีกทั้งเรื่องของมิตรภาพระหว่างเพื่อนแท้ที่มีเหตุการณ์มาให้วัดใจครั้งแล้วครั้งเล่าเข้มบ้างรั่วบ้างแต่หนักไปทางฮา และประเด็นสำคัญคือการมองแม่เลี้ยงเดี่ยวในมุมที่แตกต่าง

มันจึงเป็นความไม่สมดุลที่แสนลงตัวทำให้นี่อาจจะไม่ใช่งานที่เรียบเฉียบ  ไม่ใช่งานโรแมนติก  ไม่ใช่งานที่ต้องดูจนติดหนึบต้องดูจนอดหลับอดนอนเพราะแกนเรื่องไม่แรง  หากแต่ก็เทไม่ลงเพราะยังดูได้สบายอุราจนกลายเป็นงานที่ต้องบอกว่าเป็นงานที่เหนือธรรมดาที่มีฉากจำมากมาย หรือใครจะลืมมุขปวดอึ๊ของดงกูที่ต้องยกห้องน้ำกลับบ้าน  ใครจะลืมมุขที่จุนกิต้องเมคอัพสัตว์ประหลาดขึ้นรถเมล์  ใครจะลืมมุขกลิ่นเท้ามหาภัยของนายแบบสุดหล่อ  หรือใครจะลืมมุขขับรถวนเพื่อดมตดกันสองคนของดูซิกกับซูอา และเมื่อมันทำได้ในระดับนี้ มันจึงกลายเป็นความไม่สมดุลหรือความเรื้อนแห่งตำนาน  เพราะแค่นึกถึงชื่อ“ตงตุนต๊อก”ก็ยังอดขำไม่ได้ทุกทีสิน่า

Welcome to Waikiki

เพราะเรื่องของพวกขี้แพ้คือเรื่องคลาสสิคที่ขายได้เสมอ เรื่องของความพยายามเท่าไหร่ก็ไปไม่ถึงฝั่งฝัน  ซึ่งจากคำแนะนำมาว่าเรื่องนี้ฮาแบบไม่มีสาระแต่ผู้เขียนคงต้องขอแย้งประเด็นนี้  เพราะหาพินิจดูตามจริงกลับมีสาระอยู่ข้างในนั้น เพียงแต่สาระที่บทต้องการจะสื่อนั้นถูกวางไว้เบื้องหลังอย่างลึก แต่กระนั้นก็ยังสัมผัสได้ถึงความหมายระหว่างบรรทัดซึ่งมันคือสิ่งที่มีเสมอในงานจากเกาหลี  และสำหรับเองนี้คือหัวใจและความฝันในโลกที่บูดเบี้ยวที่เต็มไปด้วยการแก่งแย่งชิงดี  พื้นที่สำหรับความฝันของมนุษย์ที่จะเดินเข้าไปอาจไม่กว้างพอรองรับทุกความฝัน  มันก็คือเรื่องสามัญที่มนุษย์ทุกคนต้องพยายามจะไล่ตามความฝันนั้น เพียงแต่ไม่ใช่ความพยายามของทุกคนจะเข้าตาพระเจ้า

อาจบางทีความพยายามก็ไม่สู้เล่ห์เหลี่ยมกลโกงหรือเส้นสาย   ซึ่งก็มองเห็นได้หลายในครั้งที่บทสื่อออกมาว่าใช่ว่าขาดความพยายาม  แต่โอกาสมันมาไม่ถูกที่ถูกเวลาหรือบางทีโอกาสก็ถูกขโมยซึ่งหน้า  แต่ที่สำคัญสิ่งที่เห็นเสมอมาคือความพยายามที่ไม่สิ้นสุดและการมองโลกในมุมบวกเสมอกับคำพูดติดปากจุนกิว่า“ไม่เป็นไร”(เควนช่านาๆๆๆ) หรือบางครั้งอาจมีบ้างที่เหมือนละเลยความฝันแต่นั่นเพราะปัจจัยหลายอย่างบีบบังคับ  และเมื่อพื้นที่ยืนที่ตรงนั้นพระเจ้าจัดสรรมาเพียงน้อยนิด  หลายต่อหลายครั้งที่อาจมีบ้างที่ทดท้อจากความพยายาม  แต่ทว่ามนุษย์ขี้แพ้ทั้งสามบวกหนึ่งก็ยังกลับมาสู่เส้นทางของตนเองได้เสมอ

Welcome to Waikiki

เอาตามจริงอาจดูง่ายในงานด้านบทที่หาทางออกแบบเบสิค  แต่สิ่งหนึ่งที่บอกผู้ชมได้คือการบรรลุความฝันผ่านความพยายามครั้งแล้วครั้งเล่า แต่มันก็คือความหอมหวานของรสชาติความอดทน แล้วปลายทางนั้นหากการที่ต้องไปยืนที่ตรงนั้นเพียงลำพังโดยปราศจากคนที่เคยเคียงข้างและให้กำลังใจเสมอมามันจะมีประโยชน์อันใด  เมื่อความสำเร็จต้องแลกมากับหัวใจที่เปลี่ยวเปล่า  บางทีการได้อยู่เคียงข้างคนที่เข้าใจและให้กำลังใจเสมอมาก็อาจเป็นความสำเร็จในชีวิตแล้ว  เมื่อมีความทุกข์ต้องอดหรือมีความสุขแล้วอิ่มก็ยังมีคนที่อยู่เคียงข้างมอบความรักและหวังดีเสมอมา  และไม่แน่บางทีเสียงของหัวใจกับความฝันอาจไปด้วยกันได้  และมันเป็นเช่นนี้เมื่อถึงที่สุดไอ้ขี้แพ้ทั้งสามก็ยังเลือกที่จะอยู่กับชีวิตเดิม  เพียงแต่คราวนี้อาจไม่ได้ทุกข์หรือสุขเพียงลำพังแต่มีคนที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วย  และมันอาจเป็นความสำเร็จสูงสุดในชีวิตของใครสักคนแล้ว

เพียงแต่ทั้งหมดมันได้ถูกความตลกบดบังไปจนมองแทบไม่เห็นในตอนแรก  แล้วจึงค่อยๆชัดขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปแต่เมื่อบทเลือกที่จะวางตัวเองเป็นความตลกนำหน้า  สิ่งที่ต้องแลกมาคือเรื่องเหล่านี้แทบถูกกลืนหายและมันส่งผลต่อความน่าติดตามของตัวเรื่องอย่างช่วยไม่ได้  เมื่อไม่มีอะไรเร้าอารมณ์แบบดราม่าแต่ใส่สถานการณ์ตลกเข้ามาแล้วจบประเด็นในเวลาอันสั้นแถมจบแบบง่ายๆ  นั่นหมายความว่าอัตราความน่าติดตามไม่สูงระดับสุดขีด  แต่สิ่งที่เป็นคือการดูได้เรื่อยๆหยุดดูแล้วกลับมาใหม่ก็ยังสนุก  แต่ก็ยังต้องดูจนจบเพราะยังมีอะไรให้ได้คิดตามแม้ว่าจะไม่มีอะไรให้ลุ้น  เพราะเรื่องมันถูกออกแบบไว้แบบนี้และมันต้องไปตามนี้ที่ผู้ชมไม่ต้องเดาก็ทราบ เหลือแค่บทจะใส่เหตุการณ์อะไรมาให้ผู้ชมฮาจนลืมหายใจอีกเท่านั้น

Welcome to Waikiki

เพราะนี่คือความเรื้อนที่สมบูรณ์แบบตัวละครหลักสามคนคือความเรื้อน  ความเว่อร์  ความบ๊อง ด้วยการทำเรื่องที่มนุษย์บางคนไม่ทำ(บางคนก็ทำเพียงแต่อาจจะไม่ทำแบบรั่วๆ)  แต่สิ่งที่เป็นในตัวละครทั้งสามคนคือความมีวินัยที่เห็นได้ชัดเพราะเรื่องตั้งใจจะขายจุดนี้  การแสดงต้องพอดีไม่ให้เลอะจนล้นเพราะอย่างที่บอกว่าบทได้ถูกวางตัวไว้แล้ว  มีจุดหมายที่ชัดเจนในการเล่าเรื่องแบบเน้นความตลกแบบนี้  เน้นความรั่วแบบนี้  ซึ่งยากมากที่จะคุมให้อยู่ในทางที่ต้องการไปตลอดรอดฝั่ง ยากมากที่จะคุมไม่ให้กลายเป็นตลกเลอะเทอะเปรอะเปื้อน  ซึ่งการจะคุมให้อยู่นั้นนอกจากบทต้องแน่นมาก นักแสดงที่รับหน้าที่ต้องเคร่งครัดในการเล่นตามบทอย่างมีวินัย

หากจะลองสังเกตให้ดีจะเห็นว่านักแสดงหลักสามคนที่เป็นตัวเดินเรื่องและเป็นตัวชงมุขตลก ไม่มีเลยสักครั้งที่จะพยายามเล่นนอกบทหรือพยายามโชว์เหนือในการแสดง ที่เห็นคือการแสดงเป็นตัวละครได้อย่างเป็นภาพจำทุกคน  คุมให้อยู่ในกรอบที่บทบาทและคาแร็คเตอร์ของตัวละครวางไว้มันจึงได้ผลเป็นเลิศ  ทั้งบทดงกูของคิมจุงฮยอน บทดูซิก ของซอนซึงวอน แต่ที่ต้องเรียกว่าเป็นภาพจำติดตาแน่นอนคือบทจุนกิของอียีคยองที่แสดงจนนึกภาพเขาในเรื่องอื่นๆไม่ได้เลยทั้งที่ก็เคยผ่านตามาพอสมควร  เห็นหน้าทีไรก็นึกถึงความรั่วเรื้อนในเรื่องนี้  และที่มันทำให้เป็นได้ในระดับที่เข้าสิงหรือสวมวิญญาณแบบนี้  ก็คือวินัยของนักแสดงที่ต้องเล่นตามบทที่ถูกตีกรอบไว้

Welcome to Waikiki

ทั้งนี้รวมไปถึงฝ่ายหญิงอย่างจองอินซอนในบทยุนอาอีจูอูในบทซูอา และโกวอนฮีในบทซอจิน ที่มีแต่คนสุดท้ายเท่านั้นที่รั่วกว่าคนอื่น  แต่การต้องเล่นบทแบบนี้ในงานที่ตั้งหน้าขายความตลกสุดขั้วแบบนี้  เธอทั้งสามก็ยังคุมคาแร็คเตอร์อยู่ไม่หลุดล้น  นั่นก็เพราะวินัยอีกเช่นกันในการรับผิดชอบบทของตนเองอย่างเคร่งครัด  และมันทำให้มีบางอย่างให้ได้พิสูจน์เรื่องของมาตรฐานนักแสดงเกาหลีอีกคือวินัยและความรับผิดชอบต่อบท ซึ่งถ้าว่ากันตามตรงกว่าจะได้แต่ละฉากที่ตัดออกมาให้ได้ชมจะหลุดไปกี่ครั้งกว่าจะเป็นภาพออกมา  เพราะเชื่อว่านักแสดงคงอดขำไม่ได้เช่นกัน

ดังนั้นวินัยของบท  วินัยของผู้กำกับ  และวินัยของนักแสดงต้องสูงพอที่จะคุมให้อยู่ไม่ให้หลุดจนเกินไปจนทำให้กำหนดการฉายที่เข้ามาบีบ  จนทำให้ลนลานปล่อยผ่านจุดเล็กจุดน้อยที่ไม่สมบูรณ์  ซึ่งมันจะกลายเป็นแผลของเรื่องไปโดยปริยาย  และแม้จะเป็นงานคอมมิดี้เต็มรูปแบบ  แต่เมื่อบทตั้งธงไว้ให้เป็นแบบนี้หากปล่อยให้หลุดหรือปล่อยผ่านบางฉากบางซีนมันก็อาจทำให้ความตลกไม่ถึงจุดที่ควรไป  แล้วมันจะทำให้ผู้ชมสังเกตเห็นแล้วอาจจะไม่สนุก  ซึ่งมันคือมาตรฐานระดับสูงที่มองเห็นได้จากความจงใจให้รั่วหรือใครจะลืมสีหน้าท่าทางของหนูน้อยซลที่น่ารักและถูกจังหวะเวลา  ซึ่งคิดแบบง่ายๆว่ากว่าจะได้แบบนั้นต้องอดทนถ่ายกันกี่ครั้งถึงจะได้สีหน้าท่าทางของเด็กทารกได้แบบนั้น แม้จะเห็นเป็นความรั่ว แต่นี่ไม่ใช่งานที่มาแบบลวกๆแน่นอน

Welcome to Waikiki

นี่คือความสนุกที่ไม่ใช่แค่ฉากหน้าอย่างที่ว่ากัน มันคือความสนุกทั้งเบื้องหน้าและสิ่งที่แฝงไว้เบื้องหลัง  และจากจุดมุ่งหมายในการดูเพื่อเบาภาระทางอารมณ์ของผู้ชมเพื่อผ่อนคลายความเครียด  หรือต้องการปลีกหัวใจหลบเร้นภาวการณ์เหนื่อยล้าทางอารมณ์จากชีวิตประจำวันที่หนักหน่วง  หรือการที่ได้ดูได้ชมงานซีรีส์ที่หนักหน่วงแนวบริหารสมองสะเทือนอารมณ์เชิงดราม่าจัดจ้านแบบติดๆกัน  บางทีการหลบเร้นมาผ่อนคลายในความต่างบนความเบาสมองบ้างอาจเป็นเรื่องดี  และการดูเรื่องนี้คือการตอบโจทย์ได้ตรงประเด็นที่สุด

ซึ่งในความเป็นงานคอมมิดี้  ผู้เขียนเองได้ผ่านตางานแบบตลกๆแบบนี้มานับเรื่องไม่ถ้วน  แต่น้อยครั้งที่เราจะเห็นความตลกที่ใสสะอาดไปจนสุดทางแบบนี้  แต่ทั้งนี้แม้จะไม่มีความตลกตลาดล่างแบบที่เห็นกันได้ทั่วไปแต่กลับตลกได้ทุกอย่างแทบทุกเวลา  แม้กระทั่งตัวละครตีสีหน้าก็ยังตลก  โอเคที่มีบ้างที่มุขมันแป้กหรือยิงไม่โดน  แต่พอโดนจังๆก็เอาซะเต็มที่ และเชื่อว่าด้วยความที่มันเป็น Claen Comedy แบบนี้  มันจึงเป็นงานที่ผู้ชมส่วนมากดูแล้วชื่นชอบ  ไม่ว่าผู้ชมจะต้องการอะไรจากเรื่องนี้จะได้รับผลของความต้องการนั้นแน่นอน  แม้ว่าอาจมองเห็นความหมายแฝงได้เพียงนิดหน่อย  แต่อย่างน้อยก็ยังไม่หลงลืมที่จะมีไว้  เพื่อให้คนที่ต้องการอะไรมากกว่าความตลกที่อยู่เบื้องหน้าได้สัมผัส

Welcome to Waikiki

และด้วยความใสสะอาดแบบนี้มันจึงไม่แปลกที่ถ้านับกันที่งานแนวนี้ล้วนๆ  นี่คืองานที่สามารถยกไว้ให้เป็นหนึ่งในใจในความเป็นซีรีส์ที่ตลกสุดขีด  ฮาตกขอบ  หรืออาจเรียกได้ว่านี่คืองานระดับขึ้นหิ้งหรือ The Best ในแนวทางของตัวเองก็ย่อมได้  เพราะไม่ว่าจะรำลึกความทรงจำไปให้ลึกหรือย้อนความทรงจำไปไกลไปนานขนาดไหนยังนึกไม่ออกว่า  จะมีเรื่องไหนที่ตลกได้ทุกสามนาทีแบบนี้  โดยที่ไม่มีความหยาบคาย  ความเจ็บตัว  ความสกปรก  หรือเลอะเทอะเลย  เป็นงานตลกที่สะอาดแต่ตลกจนชนิดที่ว่า จะเป็นภาพติดตาไปอีกนานจนกว่าจะมีงานตลกแบบสะอาดสะอ้านแบบนี้มาแทนในความเหนือกว่า  แต่ยังมองว่าไม่ใช่เวลาอันใกล้แน่นอน

เพราะเหตุผลของความยากในการคุมเกมอย่างที่บอกไว้  ทั้งที่เรื่องนี้เอาตามจริงยังมีอะไรไม่สมบูรณ์แบบในองค์ประกอบความเป็นงานระดับยอดเยี่ยม  แต่สิ่งต่างๆเหล่านั้นคงไม่ต้องมาสาธยาย  เพราะเชื่อเหลือเกินว่าผู้ชมไม่ทันได้มองเห็นเพราะมัวแต่หัวเราะน้ำหูน้ำตาไหล จนอาจเผลอปล่อยตดไปบ้างก็มี  แต่ถ้าจะเผลอตดก็ขอให้มาแต่เสียง กลิ่นไม่ต้องตามมาก็ได้  แต่ทำไมถึงต้องยกว่าเป็นงานระดับขึ้นหิ้ง ท่านผู้อ่านลองคิดทบทวนดูว่าถ้านึกถึงซีรีส์เกาหลีที่ตลกแบบทุกสามนาที  ที่แค่เห็นสีหน้าก็ฮาแล้วและความฮานั้นไม่มีมลทินแปดเปื้อนเลยท่านนึกถึงเรื่องไหนก่อนเรื่องนี้  และอย่างที่บอกแม้มันจะรั่วแม้มันจะเรื้อน  แต่ถ้านับกันที่แนวทางที่เป็นของตังงานนี่คืองานที่ต้องประทับตราว่า อย่าเพิ่งตายถ้ายังไม่ได้ดู